Last updated: 20 ก.ย. 2566 | 754 จำนวนผู้เข้าชม |
การตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยง
สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ทั้งคลายความเหงา เติมเต็มความสุขและความอ่อนโยนให้ชีวิต ทำให้หลายคนเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ทั้งรักและห่วงใย ดูแลยามป่วยไข้ การดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงก็ไม่ต่างกับการดูแลสุขภาพของคนที่จำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจเช็คสภาพร่างกาย สัตว์เลี้ยงเองก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยง เพื่อตรวจเช็คและเฝ้าระวังการเกิดโรคร้ายในสัตว์เช่นกัน
การตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยงจำเป็นมั้ย?
การตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยงจำเป็นมาก เพราะในขณะที่คนสามารถสื่อสารกันได้ว่าเราเจ็บป่วยตรงไหน รู้สึกไม่สบายก็ไปหาหมอเองได้ แต่สัตว์เลี้ยงบอกเราไม่ได้ ทำให้ในบางครั้งกว่าเราจะพบว่าสัตว์เลี้ยงกำลังเจ็บป่วยหรือมีโรคร้ายแรงก็ตอนที่แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจนซึ่งในบางครั้งก็เกินกว่าที่สัตวแพทย์จะรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นนอกจากการหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงแล้ว การเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยงคือสิ่งที่จำเป็น โดยสัตว์แพทย์จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาความผิดปกติที่อาจแอบแฝงหรือมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หากเราพบสัญญาณอันตรายตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดได้ทัน
การตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยง ตรวจอะไรบ้าง?
ในสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดมีรายละเอียดที่แตกต่างกันทำให้การตรวจสุขภาพประจำปีอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามชนิดของสัตว์เลี้ยง เบื้องต้นจะมีการตรวจหลักๆ ดังนี้
- ตรวจความสมบูรณ์ของร่างกายภายนอก โดยสังเกตการณ์เดินการเคลื่อนไหว สุขภาพของขนผิวหนัง ตรวจวัดอุณหภูมิ การจับคลำไปตามส่วนต่างๆ ว่ามีอาการบาดเจ็บหรือความผิดปกติของโครงสร้างรูปร่างหรือไม่ และการฟังเสียงปอดและหัวใจ วัดอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ
- ตรวจเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด, ตรวจนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว, วิเคราะห์การทำงานของตับและไต ตรวจหาพยาธิในเม็ดเลือด รวมถึงการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อหาภาวะเบาหวานในสุนัข เป็นต้น
- ตรวจปัสสาวะเพื่อดูสมรรถภาพของไต และตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างการเกิดนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ โรคไต เป็นต้น
- การตรวจด้วยการ X-ray สัตว์แพทย์มักจะทำการตรวจเอกซเรย์ช่องอกเพื่อดูขนาดของหัวใจและอวัยวะในช่องอก ในบางครั้งอาจมีการตรวจเอกซเรย์ช่องท้องเพิ่มเติมด้วย
โดยปกติแล้วโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกรักษาสัตว์จะมีโปรแกรมการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดแต่ละช่วงอายุจัดไว้ให้แล้ว
เตรียมตัวไปตรวจสุขภาพต้องทำอะไรบ้าง
ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ ทางโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกรักษาสัตว์จะมีการแจ้งขั้นตอนและการเตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว ซึ่งถ้าหากต้องมีการตรวจเลือด จะต้องให้สัตว์เลี้ยงอดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชม. เพื่อให้ค่าที่ได้ไม่มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น
ไปตรวจสุขภาพปีละครั้งเพียงพอหรือเปล่า?
ความถี่ในการตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยงขั้นอยู่กับอายุของสัตว์เลี้ยง หากเป็นสัตว์เลี้ยงที่อายุน้อยการตรวจสุขภาพประจำปีเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่หากสัตว์เลี้ยงมีอายุมากขึ้นก็ควรเพิ่มความถี่ขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่นในสุนัขที่มีอายุเกิน 5 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยงทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง แต่สำหรับแมวที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกๆ 6 เดือน เช่นกัน ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้รับการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับตัวเอง
สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะมีอายุไขสั้นกว่าคน อย่างสุนัขและแมวที่มีอายุเกิน 6 ปี เทียบเท่ากับคนที่มีอายุ 40-50ปี ทำให้ความเสื่อมถอยของร่างกายเกิดขึ้นเร็วกว่ามนุษย์ ยิ่งสัตว์เลี้ยงมีอายุมากเท่าไหร่ยิ่งต้องใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเรามีสุขภาพแข็งแรง ร่าเริง อยู่กับเราไปอีกนานๆ ค่ะ
6 ก.ย. 2564
10 ส.ค. 2564
18 มิ.ย. 2565
18 มิ.ย. 2565