Last updated: 20 ก.ย. 2566 | 7291 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคในปลาสวยงามป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มต้น
ปลาสวยงาม เป็นสัตว์เลี้ยงอีกประเภทที่ใเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากในบ้านเราโดยเฉพาะ ปลาคาร์พและปลาทอง เป็นปลา 2 ชนิดที่มีผู้นิยมเลี้ยงมากที่สุด ซึ่งปลาคาร์พและปลาทองบางสายพันธุ์มีสนนราคาค่าตัวหลายบาท ปลาคาร์พบางตัวมีราคาค่าตัวสูงถึงหลักสิบล้านบาท ทำให้นอกจากจะเลี้ยงไว้ดูเพื่อความเพลิดเพลินแล้วยังสามารถเพาะเลี้ยงสร้างรายได้ให้เจ้าของได้อีกด้วย
วันนี้เราจึงมาแนะนำเกี่ยวกับโรคในปลาสวยงามและวิธีการป้องกันเบื้องต้นก่อนจะที่เกิดโรคกันค่ะ
โรคในปลาสวยงาม เราสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1. โรคที่เกิดจากการขาดสารอาหาร เพราะปลาแต่ละชนิดมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกันไปตามพื้นเพ เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่า ลักษณะภายนอกของปลามีสีสันไม่สดใสหรือซีด ครีบเปื่อย รูปร่างผิดปกติ ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดโรคได้ง่าย เป็นต้น
2. โรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในตู้ปลา, บ่อเลี้ยงไม่เหมาะสม อาทิเช่น น้ำมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป มีอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป ไม่เหมาะกับชนิดของปลา หรือในน้ำมีสารพิษจากคลอรีน ผงซักฟอก พิษจากแอมโมเนียหรือก๊าซไข่เน่าที่เกิดจากการสะสมของของเสียจากปลา หรือแม้แต่พิษนิโคตินจากควันบุหรี่ซึ่งสามารถสามารถละลายน้ำและเป็นพิษต่อปลา
3. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย มีหลายโรค แต่ที่พบได้บ่อยคือ โรคครีบและหางกร่อน มักจะพบได้เมื่อปลามีความเครียดหรือติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำ หรือ โรคท้องบวมที่พบได้มากในปลาทอง สังเกตได้จากท้องปลาที่บวมผิดปกติ เกล็ดปลาทองจะบานออกเพราะท้องขยายออกมาเกินไป ซึ่งจำเป็นจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเกิดจากแบคทีเรียจริงหรือไม่ เพื่อที่จะได้รักษาได้อย่างตรงจุด ไม่เกิดอาการดื้อยาโดยไม่จำเป็น
4. โรคที่เกิดจากเชื้อรา เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นเมื่อปลาอยู่ในภาวะร่างกายอ่อนแอหรือกำลังป่วยเป็นโรคอื่นๆ ก็จะมีโรคที่เกิดจากเชื้อราเป็นภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาเสมอ ซึ่งโรคที่เกิดจากเชื้อรามักเป็นโรคติดต่อได้หลังจากรักษาให้หายแล้วจำเป็นต้องทำการฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ต่างๆ หมั่นดูแลทำความสะอาดเพื่อไม่ให้เชื้อราติดต่อไปยังบ่ออื่นๆ หรือกลับมาเป็นอีก
5. โรคที่เกิดจากพยาธิในปลา มีทั้งภายในและภายนอก ไม่วาจะเป็น เห็บปลาที่คอยดูดเลือดปลา, ปลิงใสที่ทำให้เกิดอาการตัวซีด ขาดสารอาหาร, หนอนสมอ, พยาธิเส้นด้าย, พยาธิตัวแบน
วิธีป้องกันเบื้องต้น
ในการรักษาโรคในปลามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และต้องอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ ดังนั้นการป้องกันเบื้องต้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
1. เตรียมตู้ปลาหรือบ่อเลี้ยงปลาให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับปลาที่เลี้ยง ศึกษาพันธุ์ไม้และวัสดุตกแต่งตู้หรือบ่อเลี้ยงปลาให้เหมาะสมและไม่เป็นพิษต่อปลา
2. การปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมกับการใช้เลี้ยงปลาชนิดที่จะเลี้ยง หมั่นตรวจสอบค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ความกระด้างของน้ำ อุณหภูมิ ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับปลา ก่อนใช้น้ำควรพักน้ำให้คลอรีนระเหยจนหมดก่อน และการใส่เกลือลงในตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาสามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เป็นอันตรายได้
3. ดูและระบบกรองน้ำและระบบระบายน้ำให้สามารถทำงานได้ปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพิษจากแอมโมเนียหรือก๊าซไข่เน่าที่เกิดจากการสะสมของของเสียจากปลา
4. ให้อาหารที่เหมาะสมกับชนิดปลาและให้ในปริมาณที่เหมาะสม หากอาหารเหลือให้หมั่นทำความสะอาดอย่าปล่อยให้อาหารเน่าหรือสะสมเพราะอาจทำให้ปลาป่วยได้
ปลาแต่ละชนิดก็มีความต้องการในการดูแลเลี้ยงดูที่แตกต่างกันไป ผู้เลี้ยงก็ต้องศึกษาวิธีการเลี้ยง คอยดูแลเอาใจใส่ และคอยสังเกตปลาของเราอย่างสม่ำเสมอ เพราะปลาเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถแสดงสีหน้าได้กว่าจะรู้ว่าเกิดโรคก็อาจจะสายเกินเยียวยา
18 มิ.ย. 2565
10 ส.ค. 2564
18 มิ.ย. 2565
6 ก.ย. 2564